ย้อนอดีต…มองการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

ขอบคุณภาพจาก : BBC NEWS Thailand

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม

ประธานสวนดุสิตโพล

          ก่อนที่การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11 จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เมื่อย้อนกลับไปในอดีตกรุงเทพมหานครมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกตั้งแต่ 2518 และตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ชนะด้วยคะแนนเสียง 99,287 คะแนน จากผู้ออกมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 13.86  และกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ต้องรอนานกว่า 10 ปี โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ในปี 2528 ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 2 ในนามกลุ่มรวมพลัง และได้รับเลือกเป็น สมัยที่ 2 ในนามพรรคพลังธรรม ซึ่งพรรคพลังธรรมยังได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯโดยเลือก ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าฯกทม. หลังจากนั้นผู้ว่าฯกทม. ก็เปลี่ยนเป็น นายพิจิตร รัตตกุล จากผู้สมัครอิสระ นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคประชากรไทย ก่อนจะเข้าสู่ยุคของผู้วาฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์

          พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯ แบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 7 เมืื่อปี 2547 โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ๒ สมัยติดต่อกัน ต่อด้วยครั้งที่ 9 และ 10 เป็นหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ุ บริพัตร จนในปี 2559 มีคำสั่งแต่งตั้งจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 16 (นับจากปี 2518 ที่ผู้ว่าฯกทม.มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง)

          ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีผู้สมัครลงแข่งขันกันมากกว่าครั้งละ 10 คน จากพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ และส่วนใหญ่ผู้ชนะก็จะสังกัดพรรคการเมือง จากการเลือกตั้งผู้ฯกทม. ทั้ง 10 ครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งทั้งหมด 5 ครั้ง พรรคพลังธรรมกับกลุ่มรวมพลัง 3 ครั้ง พรรคประชากรไทย 1 ครั้ง และผู้สมัครอิสระ 1 ครั้ง

          นอกจากนี้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนมากขึ้นในทุก ๆ ครั้งตั้งแต่ครั้งที่ 1 ที่มีเพียง 1,898,518 คน มาใช้สิทธิ ร้อยละ 13.35 จนถึงครั้งที่ 10 ผู้มีสิทธิ 4,244,465 คน มาใช้สิทธิร้อยละ 63.98 ซึ่งถือว่ามากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง ที่ผ่านมา และที่น่าสนใจผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1 กับอันดับ 2 มีคะแนนห่างกันเพียง 178,450 คะแนนหรือร้อยละ 6.78 ซึ่งถือว่าห่างกันน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งผ่าน ๆ มา

          การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใน กทม. หากพิจารณาข้อมูลของผลการเลือกตั้งของทั้งสองสนามในครั้งล่าสุด พบว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ คือ 1,256,349 คะแนนหรือร้อยละ 29.60 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือร้อยละ 47.75 ของผู้มาใช้สิทธิ แต่การเลือกตั้ง ส.ส. ใน กทม. ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียงเพียง 474,820 หรือคิดเป็นร้อยละ 15.31 ของผู้มาใช้สิทธิทำให้พรรคไม่มีตัวแทน ส.ส. ในเขตกรุงเทพแม้แต่คนเดียว   การแข่งขัน ช่วงชิงคะแนนเสียงในพื้นที่ กทม. อาจไม่ได้มีแค่การเลือก ส.ส. และผู้ว่าฯ แต่ยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) การได้คะแนนจากทุกระดับถือเป็นความสำคัญยิ่งของการเป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง และปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นที่ต้องมองย้อนไปดูความนิยมของคนกรุงเทพผ่านการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา คือการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งพบว่าพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดจากการเลือกตั้ง ส.ส.ในกรุงเทพมหานคร เป็นพรรคอนาคตใหม่ (ได้คะแนนเสียงมากกว่าแต่ได้จำนวน ส.ส. น้อยกว่า ปัจจุบันเป็นพรรคก้าวไกล) รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

พรรคจำนวนผู้สมัครคะแนนเสียง
จำนวน
คะแนนเสียง
ร้อยละ
จำนวน ส.ส. ที่ได้
พลังประชารัฐ30791,89325.53%12
อนาคตใหม่30804,27225.93%9
เพื่อไทย22604,69919.49%9
ประชาธิปัตย์30474,82015.31%0
อื่น ๆ819426,59613.74%0
ผลรวม9313,102,280100.00%30
*ผลการเลือกตั้ง ส.ส ในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2562

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะมีผู้สมัครมากกว่า 30 คน มีผู้สมัครทั้งจากพรรคการเมือง และผู้สมัครอิสระ พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถชนะใจคนกรุงเทพกลับเข้ามาบริหารเมืองหลวงต่อไป หรือจะเป็นพรรคก้าวไกลที่คนกรุงเทพเลือกมากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือจะเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น ๆ หรือจะเป็นผู้สมัครอิสระ ที่ทุกพรรค ทุกคนพร้อมรับอาสามาทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพ แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้ง นั้นมีมากมายทั้งนโยบายพรรค นโยบายการหาเสียง ความชื่นชอบตัวบุคคล สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะได้รับความสนใจและออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ  หรือแม้แต่วาทะเด็ด วาทะโดน รวมไปถึงวลี และวาทกรรมทางการเมืองของผู้สมัคร  ล้วนเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะจรดปากกา เลือกผู้ว่าที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด