โพลเลือกตั้ง (Election Poll) เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี ค.ศ. 1824 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหนังสือพิมพ์ฮาริสเบอร์ก แพซิวาเนียน (Harrisburg Pennsylvanian) ในสมัยที่ Andrew Jackson ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี โพลครั้งนั้นเป็นเพียงการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความนิยมของผู้ลงสมัครอย่างไม่เป็นทางการ (Straw Poll) โดยผลการสำรวจระบุว่า Andrew Jackson มีคะแนนนำ John Quincy Adams อยู่ 365 ต่อ 169 แต่ในปี ค.ศ. 1824 John Quincy Adams ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี (แต่งตั้ง มีนาคม ค.ศ. 1825) ส่วน Andrew Jackson ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในสมัยถัดไป (ปี ค.ศ. 1828) แต่หลังจากนั้น วิธีการสำรวจความคิดเห็นเริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการนำไปประยุกต์กับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่นต่อเหตุการณ์สำคัญหรือโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ….

ในปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) หนังสือ Literary Digest ริเริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นระดับประเทศเกี่ยวกับการเลือกประธานาธิบดี และได้ทำนายผลว่า โทมัส วูดโร วิลสัน (Thomas Woodrow Wilson; ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 28 วาระที่ 32 และ 33) จะได้เป็นประธานาธิบดี และผลก็เป็นจริงตามนั้น วิธีการการทำโพลครั้งนั้นเป็นการดำเนินการโดยส่งโปสการ์ดแนบไปกับนิตยสารและนำจำนวนคำตอบที่ได้รับกลับมาวิเคราะห์ผล แม้ว่าการทำ   โพลของนิตยสาร Literary Digest ทำให้ Literary Digest ได้รับชื่อเสียงโด่งดัง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1936 หนังสือ Literary Digest ก็ถึงทางตัน เมื่อมีการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีบดี ซึ่งเป็นยุคสมัยของประธานาธิบดีแฟลงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) เป็นการสำรวจความนิยมระหว่าง รูสเวลท์  กับ อัลฟ แลนดอน (AlF Landon) ดำเนินการสำรวจประชาชนชาวอเมริกันประมาณ 2.3 ล้านคน ซึ่งผลการทำนายคือ แลนดอนจะชนะ 57% นั่นหมายความว่า ผลที่ Literary Digest  ทำนายไว้คือ รูสเวลท์จะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ผลการเลือกตั้งเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยมีข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่เป็นสมาชิกของนิตยสารนั้น มักจะเป็นกลุ่มคนอเมริกันที่อยู่ในฐานะร่ำรวย และ Literary Digest  เองไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อขจัดความลำเอียงของข้อมูลออกไป ขณะเดียวกัน จอร์จ แกลลัป (George Gullup)ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างของแกลลัปนั้นเล็กกว่ามาก โดยสำรวจคนเพียงแค่หลักพันเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนหลายล้านคนของ Literary Digest  แต่การสำรวจของแกลลัปนั้นอยู่บนพื้นฐานของการทำวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์  และในที่สุดผลก็ออกมาว่าแกลลัปทำนายถูกว่าประธานาธิบดีรูสเวลท์จะได้เป็นประธานาธิบดี และ Literary Digest ต้องปิดตัวไปหลังจากเหตุการณ์นี้ (Michael and Matthew, 2004)

จากความล้มเหลวของ Literary Digest ที่ใช้การสำรวจแบบ Straw Poll ซึ่งเป็นการสำรวจที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เกิดจากการสุ่มมากเกินไป ดังนั้นในการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีการนำเทคนิคการสุ่ม (Random Sampling) มาใช้โดยผ่านสถาบันการสำรวจความคิดเห็นแห่งอเมริกา หรือ AIPO (American Institute of Public Opinion) ที่กัลลัปเป็นผู้ก่อตั้ง โดยอาศัยความรู้จากวิชาชีพการวิจัยโฆษณาที่ยังแอนด์รูบิแคน (Young and Rubican) และดุษฎีนิพนธ์ที่เสนอวิธีการตรวจสอบผู้อ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นการทดสอบว่าสิ่งที่ผู้อ่านสนใจในหนังสือพิมพ์คืออะไร และในยุคของกัลลัปเป็นยุคที่มีการทำสำรวจประชามติแบบวิทยาศาสตร์หรือที่เรียกว่า โพล (Poll) จนกระทั่งปี 1948 การทำนายผลของกัลลัปเกิดข้อผิดพลาดในการสำรวจคะแนนนิยมระหว่าง ดิวอี้ (Dewey) กับ ทรูแมน (Truman) ผลของการทำนายคือ ดิวอี้จะชนะ แต่ผลการเลือกตั้งเป็นทรูแมนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีโดยมีคะแนนมากกว่าร้อยละ 5 จากความผิดพลาดทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อโพลและผู้ดำเนินการวิจัยทำให้มีการปรับปรุงการทำโพลอย่างมากมาย

ผลการทำนายที่ผิดพลาดนี้มีผลตามมาคือการล่มสลายของการจัดทำโพล สภาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ผลโพลก่อนการเลือกตั้งและการทำนายผล (Committee on Analysis of Pre-Election Polls and Forecast) ขึ้น โดยคณะกรรมการจะตรวจสอบสาเหตุและความล้มเหลวของผลโพลนี้ พร้อมให้ข้อเสนอแนะ

ทราก็อตต์ & ลาฟเรคัส (Traugott & Lavrakas) (2004, p.2) กล่าวว่าโดยหลักการแล้วคำว่า “โพล” กับ “การวิจัยเชิงสำรวจ” คือสิ่งเดียวกัน แต่ คำว่า “โพล” นิยมใช้กับการสำรวจที่ดำเนินการโดยองค์กรเชิงพาณิชย์ (Commercial Organizations) และองค์กรสื่อ (Media Organization) แบบฉบับของการทำโพลคือการใช้แบบสอบถามที่มีข้อคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นที่สนใจเพียงไม่กี่ข้อ ใช้การสัมภาษณ์เชิงสรุปที่ใช้เวลาเพียงสองสามวันก็เสร็จสิ้น และขนาดของกลุ่มตัวอย่างหรือผู้ตอบจะอยู่ระหว่าง 600 ถึง 1,500 คน

อ้างอิง

Michael A. Genovese and Matthew J. Streb. (2004). Polls and Politic: the dilemmas of democracy. New York ; State University of New York.

Traugott, M.W. & Lavrakas, P.J. (2004). The Voter’s Guide to Electronic Polls. 3rd ed. Lanham, MD: Rowman & Littlefield.

Similar Posts