หลัง…เลือกตั้ง2562

ตัวเลขไม่เคย…หลอกใคร

           ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจตามมาหลังจากการปิดหีบเลือกตั้ง และการนับคะแนนของผู้มาใช้สิทธิ หากศึกษา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

          “ข้อมูลผู้ใช้สิทธิ” สิ่งที่สามารถรู้ได้ทันทีหลังปิดหีบ คือ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ จำนวนบัตรเลือกตั้ง เพราะ ใน มาตรา 103 ระบุว่า “…เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งของหีบบัตรเลือกตั้ง และจัดทำรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตนและรับบัตรเลือกตั้ง และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือ แล้วประกาศให้ประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง ได้ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด” เมื่อประกาศ ณ ที่เลือกตั้งแล้วจะรวมข้อมูลไม่น่าจะใช่เรื่องยาก

และที่สำคัญ การดำเนินการตามมาตรา 103 ดังกล่าว ต้องดำเนินการก่อนเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อทำการนับคะแนน ตามมาตรา 116 ที่ว่า  “เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 103 แล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง แล้วดำเนินการนับคะแนน”

           “บัตรเขย่ง” สาเหตุเกิดจากอะไรรับบัตรไปแล้วแต่ไม่เลือก หรือลงชื่อแต่ไม่รับบัตร เพราะ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 38,268,375 คน แต่จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป 38,268,366 คน ผู้มาใช้สิทธิมากกว่าบัตร 9 คน หรือจะเป็นกรณีบัตรดีจำนวน 35,532,645 ใบ แต่จำนวนคะแนนของพรรคการเมืองทุกพรรครวมได้ 35,532,647 คะแนน จำนวนคะแนนมากกว่าบัตรดีอยู่ 2 คะแนน ซึ่งสาเหตุผู้มาเลือกตั้งรับบัตรแล้วจะไม่ลงคะแนนคงเป็นไปได้ยาก เพราะ ตาม พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ใน วรรค 2 ของ มาตรา 95 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง” นั่นคือ ถ้าใครเอาบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้งถือว่าผิดกฎหมาย แล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเกิดขึ้นที่ไหน ???

          “การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” การได้มาซึ่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กรณีนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะนั้นหมายถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาล โดย พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 6 ว่าด้วยการประกาศผลการเลือกตั้ง  มาตรา 125 ถึงมาตรา 131 ในการนี้จึงได้พิจารณาตามมาตราดังกล่าวตามขั้นตอนดังนี้

          ขั้นที่ 1 นำผลรวมคะแนนทุกพรรคแล้วหารด้วยห้าร้อย (35,532,647/500) ได้เท่ากับ 71,065.2940 นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองจะมี ส.ส.ได้ 1 คน ต้องได้คะแนนอย่างน้อย 71,065 คะแนน

          ขั้นที่ 2 นำคะแนนในขั้นที่ 1 ไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคได้จะได้จำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งมีพรรคที่จะได้ ส.ส.พึงมี มีตั้งแต่ 1 คน ถึง 118 คน

          ขั้นที่ 3 นำจำนวน ส.ส.เขต ที่แต่ละพรรคได้ เปรียบเทียบกับ ส.ส.พึงมี

                   ถ้า ส.ส.เขตมีจำนวนมากกว่า ส.ส.พึงมี ก็จะไม่ได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม

                  ส่วนพรรคที่ได้ ส.ส.เขต น้อยกว่า ส.ส.พึงมี ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม

                 แต่สิ่งที่พบเมื่อ ผลรวมของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรครวมกันแล้วเกิน 150 คน จึงต้องมีการคำนวณปรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (มาตรา 128 (7) และใช้ มาตรา128 (4) โดยอนุโลม คือ ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน )

จากขั้นตอนที่กล่าวมาสามารถสรุปจำนวน ส.ส. ได้ตามตารางการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ตารางการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เรียงอันดับตามจำนวนคะแนนที่ได้รับ)

พรรการเมือง
จำนวนคะแนน
ผลหาร ส.ส .พึงมี
ส.ส.พึงมี
ส.ส.เขต
ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้
ปรับการคำนวณ
ปรับคะแนนนับจำนวนเศษมากสุด
รวมจำนวน ส.ส.
รวม 35,532,647 71,065.29 350 152 150 150 500
พลังประชารัฐ 8,433,137 118.6674 118 97 21 20.7237 21 117
เพื่อไทย 7,920,630 111.4557 111 137 0 0.0000 0 137
อนาคตใหม่ 6,265,950 88.17173 88 30 58 57.2368 57 87
ประชาธิปัตย์ 3,947,726 55.55069 55 33 22 21.7105 21 54
ภูมิใจไทย 3,732,883 52.52751 52 39 13 12.8289 13 52
เสรีรวมไทย 826,530 11.63057 11 0 11 10.8553 11 11
ชาติไทยพัฒนา 782,031 11.0044 11 6 5 4.9342 5 11
เศรษฐกิจใหม่ 485,664 6.834053 6 0 6 5.9211 6 6
ประชาชาติ 485,436 6.830845 6 6 0 0.0000 0 6
เพื่อชาติ 419,393 5.901516 5 0 5 4.9342 5 5
รวมพลังประชาชาติไทย 416,324 5.858331 5 1 4 3.9474 4 5
ชาติพัฒนา 252,044 3.546654 3 1 2 1.9737 2 3
พลังท้องถิ่นไท 213,129 2.999059 2 0 2 1.9737 2 2
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 136,597 1.922134 1 0 1 0.9868 1 1
พลังปวงชนไทย 81,733 1.150111 1 0 1 0.9868 1 1
ประชาสามัคคี 73,871 1.039481 1 0 1 0.9868 1 1

หมายเหตุ แสดงฉพาะพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. พึงมีตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

จากตารางการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พบว่า จำนวนคะแนนทั้งหมดเท่ากับ 35,532,647 คะแนน ผลหารเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมี เท่ากับ 71,065.29 คะแนน ส.ส.พึงมี มีจำนวนตั้งแต่ 1-118 คน พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 137 คน มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี และพรรคประชาชาติได้ ส.ส.พึงมีเท่ากับ ส.ส.เขต จึงไม่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม

เมื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้ตามจำนวน ส.ส.พึงมี พบว่า ผลรวมของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่า 150 จึงมีการคำนวณปรับจำนวน ส.ส. เพื่อให้ได้ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 ซึ่งพบว่า พรรคที่มีเศษเหลือมาก (เรียงตามทศนิยม) ได้ ส.ส.เพิ่มเติมตามจำนวน และพรรคที่มีเศษเหลือน้อยที่สุด

อ้างอิง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561. (2561, 12 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก หน้า 40-97.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2562) คะแนนรวมรายพรรคการเมือง. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2562. จาก  https://www.ect.go.th/ewt/ ewt/ect_th/download/article/article_20190328165029.pdf

เรียบเรียงโดย นายณัฐพล แย้มฉิม

ภาพโดย นายกิตติพงศ์ อิ่มประคองศิลป์